
15 มิ.ย. นายจ้างควรทำอย่างไรเมื่อแรงงานต่างด้าวออกจากงาน
การจ้างแรงงานต่างด้าวมีข้อปฏิบัติหลายอย่างที่นายจ้างควรรู้ ตั้งแต่การเริ่มเข้าทำงานที่นายจ้างต้องแจ้งกับนายทะเบียนประจำสำนักจัดหางาน รวมถึงการแจ้งออกของแรงงานต้างด้าวที่มีเงื่อนไขการลาออกแตกต่างกันไป ดังนั้นเป็นเรื่องที่นายจ้างควรศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามความถูกต้องและลดความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น สิทธิเงื่อนไขการออกของแรงงานต่างด้าวมีดังต่อไปนี้
สิทธิการลาออกจากงานของลูกจ้าง
แม้ว่าแรงงานจะต้องทำงานตามที่ใบอนุญาตทำงานกำหนดจนครบสัญญาจ้าง แต่แรงงานต่างด้าว MOU สามารถขอลาออกจากงาน หรือขอเปลี่ยนนายจ้างได้ในบางกรณี ซึ่งการลาออกจากงานของลูกจ้างสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง
กรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อแรงงานต่างด้าวต้องออกจากงานโดยที่นายจ้างไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือทำความผิด เช่น แรงงานต่างด้าวต้องการออกจากงานเองหรือละทิ้งการทำงาน และไม่ได้จ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงาน ซึ่งคํานวณมาจากสัดส่วนของระยะเวลาที่คนต่างด้าวคนนั้นได้ทํางานไปแล้ว โดยจะถือว่าใบอนุญาตทำงานและสิทธิการอยู่อาศัยในประเทศไทยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ออกจากงาน
2. ลูกจ้างออกจากงานโดยมีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง
กฎหมายไทยให้สิทธิและความเท่าเทียมกับแรงงานต่างด้าว โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าว MOU สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ แต่ต้องมีสาเหตุของการลาออกมาจากนายจ้าง ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- นายจ้างเลิกจ้างหรือเสียชีวิต
- นายจ้างทำทารุณกรรมหรือทำร้ายลูกจ้าง
- นายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงกับสัญญาว่าจ้าง หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
- นายจ้างล้มละลายหรือลดกำลังการผลิต เนื่องจากไม่มีงานให้กับแรงงานต่างด้าว
- สภาพการทำงานหรือสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ สุขภาพอนามัย หรือชีวิตของลูกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างทำความผิด แรงงานต่างด้าวจะต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อแจ้งต่อนายทะเบียน รวมถึงหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายในเวลา 30 วัน โดยแรงงานต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างใหม่ได้ไม่เกินระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญานำเข้าแรงงานต่างด้าว
การแจ้งออกแรงงานต่างด้าว
เมื่อแรงงานต่างด้าวลาออกจากงานแล้ว นายจ้างจะต้องแจ้งออกภายใน 15 วันที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ พร้อมทั้งระบุเหตุผลของการแจ้งออกด้วย หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท โดยการแจ้งออกต้องใช้เอกสารดังนี้
- ใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้ลงนาม พร้อมสำเนา 2 ฉบับ
- ใบอนุญาตทำงานฉบับจริง (ยกเว้นกรณีคนต่างด้าวไม่สามารถติดต่อได้ ให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำงาน ถ้ามี)
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนสถานประกอบการ เช่น หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท (ถ้าไม่เกิน 6 เดือน) ใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน หนังสือรับรองนิติบุคคลของมูลนิธิ เป็นต้น
- สำเนาบัตรประชาชนนายจ้าง ถ้านายจ้างเป็นคนไทย หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง ถ้านายจ้างเป็นคนต่างด้าว
- หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ ถ้าไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง
การแจ้งเข้าแรงงานต่างด้าวใหม่
หากนายจ้างรับแรงงานต่างด้าวใหม่เข้ามาแทนคนที่ออกไป จะต้องดำเนินการแจ้งเข้าภายใน 15 วันที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ เช่นเดียวกับการแจ้งออก โดยใช้เอกสาร ดังนี้
- ใบรับแจ้ง
- แบบแจ้งการจ้างคนต่างด้าว
- แบบแจ้งการเข้าทำงานของคนต่างด้าว
- สำเนาพาสปอร์ต สำเนาวีซ่า (พร้อมเล่มพาสปอร์ตฉบับจริง เพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่)
- สำเนาใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว (สำเนาบัตรชมพู หรือสำเนาใบรับคำขอและสำเนาใบเสร็จรับเงิน)
- หนังสือมอบอำนาจต่างด้าว 1 คนต่อ 1 ชุด (กรณีต่างด้าวไม่ได้มาแจ้งเข้าด้วยตนเอง)
- สำเนาหนังสือรับรองบริษัทที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล)
- หนังสือมอบอำนาจนายจ้าง (กรณีนายจ้างไม่ได้มายื่นแจ้งเข้าแรงงานต่างด้าวด้วยตนเอง)
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
จะเห็นได้ว่าแรงงานต่างด้าวมีสิทธิ์ในการขอลาออกและเปลี่ยนนายจ้างได้ในกรณีที่นายจ้างทำความผิด นายจ้างจึงควรศึกษาข้อมูลและวิธีการดำเนินการหลังจากแรงงานต่างด้าวลาออกจากงานให้ดี เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแจ้งเข้า-แจ้งออก แรงงานต่างด้าว สามารถติดต่อโทร 02-018-8688 เพื่อปรึกษาบริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงานต่างด้าวและพร้อมให้บริการอย่างครบวงจร