
22 ธ.ค. แรงงานต่างด้าวที่ทำงานได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย มีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
ในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวถือเป็นบุคคลสำคัญที่คอยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างดีโดยเฉพาะบรรดากลุ่มแรงงานกลุ่มฝีมือ กึ่งฝีมือ และอาชีพต่าง ๆ อย่างไรก็ตามสำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว เหล่านี้นอกจากต้องทำใบอนุญาตแรงงาน (Word Permit) การทำพาสปอร์ต (Passport) และ วีซ่า (Visa) แล้ว การทำความรู้จักกับประเภทแรงงานที่สามารถจ้างได้ รวมถึงความแตกต่างจะช่วยให้สามารถจ้างคนอย่างมั่นใจ
ประเภทของแรงงานต่างด้าวที่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย
1. กลุ่มแรงงานได้รับอนุญาตตามมาตรา 9
กลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้สามารถทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องคนเข้าเมือง แบ่งออกได้ 4 ประเภท ดังนี้
- แรงงานทั่วไป คือ กลุ่มคนต่างชาติที่มีทักษะการทำงานดี มีตำแหน่งงานระดับสูง อาจเป็นการส่งตัวมาจากบริษัทต่างประเทศที่ได้ลงทุนในเมืองไทย หรือบางกรณีต้องใช้ทักษะเฉพาะจำพวกเทคโนโลยีชั้นสูง งานช่างเฉพาะทาง งานด้านการสื่อสารภาษา รวมถึงการทำงานจากเงินลงทุนของตนเอง กิจการร่วมทุน แบ่งได้ทั้ง การลงทุนตั้งแต่ 2 ล้านบาท จนถึง 30 ล้านบาท หรือบรรดาสมาคม มูลนิธิ องค์กรต่างชาติ
- แรงงานตลอดชีพ คนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตสามารถทำงานได้ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๒๒ ข้อ ๑๐ (๑๐) มีสาระสำคัญว่า “ใบอนุญาตที่ออกให้แก่คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตาม กฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมืองและทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ให้ใช้ได้ตลอดชีวิตของคนต่างด้าวนั้น เว้นแต่คนต่างด้าวจะเปลี่ยนอาชีพใหม่”
- แรงงานแจ้งการทำงาน คนต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อการทำงานเร่งด่วน จำเป็น ภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน และต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนรับทราบ
- แรงงานพิสูจน์สัญชาติ กลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ในอดีตมีการผ่อนผันให้ทำงานได้ 2 ประเภท คือ กรรมกรและคนรับใช้ประจำบ้าน ใบอนุญาตเป็นชนิดบัตรสีชมพู มีการเปลี่ยนสถานะจากแรงงานหลบหนีเข้าเมืองเป็นถูกกฎหมายจากการพิสูจน์สัญชาติพร้อมเอกสารรับรองจากเจ้าหน้าที่ประเทศต้นทางนั่นคือ หนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองตัวบุคคล จะเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตสีเขียว
2. กลุ่มแรงงานได้รับอนุญาตตามมาตรา 11
แรงงานต่างชาติที่ยังไม่ได้เดินทางมายังเมืองไทยแต่นายจ้างได้ยื่นเรื่องขอรับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว แบ่งเป็นแรงงานทั่วไปสำหรับคนมีทักษะหรือตำแหน่งสูง หลังเดินทางเข้าประเทศต้องยื่นขอใบอนุญาตการทำงานภายใน 30 วัน และแรงงานนำเข้า คือกลุ่มแรงงานตามข้อตกลง MOU ระหว่างไทยกับประเทศคู่ภาคี ทำงานกรรมกรและคนรับใช้ประจำบ้าน ได้แก่ แรงงานลาวและกัมพูชา
3. กลุ่มแรงงานได้รับอนุญาตตามมาตรา 13 (1) และ (2)
- คนต่างด้าวถูกเนรเทศออกนอกประเทศตามกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้ยังคงประกอบวิชาชีพได้ ณ พื้นที่หนึ่งแทนการออกนอกประเทศหรือในระหว่างรอการเนรเทศ
- เข้าเมืองทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยเป็นการชั่วคราวระหว่างรอส่งกลับ
4. กลุ่มแรงงานได้รับอนุญาตตามมาตรา 14
ชาวต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ตามกฎหมายพิเศษ อาทิ กฎหมายการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. นิคมอุตสาหกรรม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เป็นต้น
คุณสมบัติของแรงงานต่างชาติ (ต่างด้าว) ที่ประสงค์ทำงานในประเทศไทย
สำหรับแรงงานต่างชาติหรือต่างด้าวที่สนใจเข้ามาทำงานในเมืองไทยก็ต้องปฏิบัติตามคุณสมบัติที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ ดังนี้
- ต้องเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นการชั่วคราว มีถิ่นที่อยู่อาศัยชัดเจน ไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหรือเดินทางผ่าน
- มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานของตนเองตามประเภทใบอนุญาตที่ได้ขอไว้
- ไม่เป็นบุคคลสติฟันเฟือน วิกลจริต ไม่สมประกอบ
- ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงอย่าง โรคเรื้อน วัณโรคระยะแพร่กระจาย โรคเท้าช้างระยะแสดงอาการเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม โรคเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภทร้ายแรง กลุ่มโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ไม่เคยต้องโทษตามความผิดทางกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและตามกฎหมายแรงงานของคนต่างด้าว ตลอดเวลา 1 ปี ก่อนเข้ารับใบอนุญาต
เลือกประเภทแรงงานต่างด้าวให้ถูก องค์การเติบโตมากขึ้น
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าปัจจุบันแรงงานต่างด้าวถือเป็นบุคคลสำคัญในการเป็นฟันเฟืองเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชั้นแรงงาน ชั้นปฏิบัติงาน หรือระดับผู้บริหาร มีทักษะสามารถช่วยให้งานออกมาตามเป้าหมาย ดังนั้นการเลือกประเภทของแรงงานจึงต้องใส่ใจในรายละเอียดให้ดี
สิ่งสำคัญคือต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่ามาตราใดก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันว่าองค์กรหรือหน่วยงานที่จ้างจะไม่เกิดปัญหาอื่นตามมาภายหลัง ประเมินบุคคลที่คาดว่าพร้อมช่วยทำงานจากทักษะที่เขามี ยิ่งไปกว่านั้นอย่าลืมมองที่ลักษณะนิสัย ตรวจสอบประวัติให้ครบถ้วน เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะตัวแรงงานหรือองค์กรเองก็เกิดประโยชน์ด้วยกัน
นี่คือทั้งหมดของประเภทแรงงานต่างชาติ หรือแรงงานต่างด้าวที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากมองตามพื้นฐานแล้วก็อาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของเงื่อนไขตามมาตราที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ แต่ภาพรวมก็ขึ้นอยู่กับทางหน่วยงาน องค์กรที่จ้างด้วยว่ามีจุดประสงค์สำหรับจ้างแรงงานกลุ่มใดเพื่อช่วยเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งของธุรกิจตนเองให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคง และต้องไม่ลืมว่าแรงงานทุกคนต้องมีเอกสารที่ถูกต้องทั้ง Work Permit และวีซ่า เพื่อความสบายใจและทำงานตามทักษะที่ตนเองมี