
10 ส.ค. เลิกจ้างอย่างไรให้ชอบด้วยกฎหมายและมีความเป็นธรรม
การบอกเลิกจ้างพนักงานเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจไม่น้อยสำหรับนายจ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างเช่นที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายบริษัทต้องปลดพนักงานเป็นจำนวนมากเพื่อรัดเข็มขัดและตัดรายจ่ายบางส่วนออก ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างราว 7 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน อาจทำให้มีการเลิกจ้างสูงถึง 11-12 ล้านคน เนื่องจากธุรกิจต้องหยุดทำการเป็นเวลานาน เมื่อเกิดการเลิกจ้าง นายจ้างไม่ควรละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะอาจทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นได้ โดยกฎหมายการเลิกจ้างพื้นฐานที่นายจ้างควรรู้มีดังนี้
การบอกกล่าวล่วงหน้า
เมื่อมีเหตุให้ต้องเลิกจ้างแรงงาน นายจ้างจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามหลักกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฏหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้เกิดการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โดยแบ่งเป็น 2 กรณี
- สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาจ้าง หรือเรียกอีกอย่างว่า สัญญาปลายปิด นายจ้างไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้าก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุด โดยสัญญาประเภทนี้จะต้องเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาเริ่มและสิ้นสุดของสัญญาไว้ชัดเจน และโดยทั่วไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้
- สัญญาจ้างแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาจ้าง หรือเรียกอีกอย่างว่า สัญญาปลายเปิด นายจ้างจำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงงวดการจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่ง เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงงวดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
การจ่ายค่าชดเชย
แม้ว่าการนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จะมีการกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ MOU คือบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ไม่ถือเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่อน ดังนั้นหากมีการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานทำงานครบกำหนดตามระยะเวลาในใบอนุญาต และนายจ้างไม่มีความต้องการที่จะจ้างแรงงานต่อ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ถ้ามีการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหยุดทำงานชั่วคราว เพื่อไปต่อใบอนุญาตทำงาน วีซ่า หรือหนังสือเดินทาง จะไม่นับว่าเป็นการเลิกจ้าง
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนี้
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้า 90 วันสุดท้าย
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้าย
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้าย
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย
อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ได้ให้ความเป็นธรรมกับนายจ้างด้วยเช่นกัน โดยมีการกำหนดข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างงาน ในกรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยในกรณีนี้ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
กรณีปิดกิจการชั่วคราว เหตุสุดวิสัย
โดยทั่วไปแล้วการปิดกิจการแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
- กรณีที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เช่น เครื่องจักรในการทำงานเสีย และยังหาวิธีการซ่อมแซมไม่ได้ ผู้จัดหาวัตถุดิบในการผลิตสินค้า หรือ Supplier ปิดกิจการและยังหาวัตถุดิบใหม่ไม่ได้ ฯลฯ และนายจ้างยังต้องการกลับมาประกอบกิจการต่อจึงยังไม่ให้ลูกจ้างออกจากงาน กฎหมายบังคับให้นายจ้างยังต้องจ่ายค่าแรงในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ตลอดเวลาที่หยุดประกอบกิจการนั้น ๆ และลูกจ้างไม่ได้ทำงาน
- กรณีที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย พิจารณาได้จากเหุตการณ์ที่นายจ้างไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง นายจ้างอาจหยุดกิจการชั่วคราวโดยไม่ต้องให้ลูกจ้างทำงาน และในระหว่างการพักกิจการก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างก็ได้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กรณีที่นายจ้างต้องปิดกิจการเพราะคำสั่งของรัฐบาลโดยเฉพาะ หรือการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสถานประกอบการของนายจ้างถือเป็น “ เหตุสุดวิสัย” ที่มาตรา 75 เปิดช่องทางที่ช่วยให้นายจ้างยังประคองกิจการต่อไปได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่มาตรา 75 ไม่ได้เปิดโอกาสให้นายจ้าง ไล่พนักงานออก หรือสั่งลดเงินเดือนหรือสวัสดิการของลูกจ้างได้ เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะที่นายจ้างกลับมาทำกิจการต่อไป ก็ต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าตอบแทนในอัตราเดิม
จะเห็นได้ว่ากฎหมายแรงงานไทยก็ได้ให้ความคุ้มครองทั้งนายจ้างและลูกจ้างไว้อย่างเป็นธรรม โดยการเลิกจ้างสามารถทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายเพื่อความถูกต้อง ความยุติธรรมและลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลิกจ้างแรงงาน หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าว บริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด ยินดีให้คำปรึกษาแก่นายจ้าง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญและเข้าใจในขั้นตอน กฎหมาย และวิธีการแก้ปัญหา หากสนใจติดต่อได้ที่ 02-018-8688