
22 มิ.ย. สื่อสารกับแรงงานต่างด้าวอย่างไรให้เข้าใจตรงกัน
ปัจจุบันผู้ประกอบการตัดสินใจจ้างแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากจะได้แรงงานที่มีทักษะการทำงานตรงกับความต้องการและมีอัตราค่าจ้างที่ถูกกว่าแรงงานไทย แต่ถ้าขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต่างด้าวก็อาจทำให้งานมีความเสียหาย ต้องเสียทั้งเงินและเวลามากขึ้นกว่าเดิม การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ทำความรู้จักกับ ‘การสื่อสาร’
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘การสื่อสาร’ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงการพูดคุยกันเป็นอย่างแรก เพราะเป็นวิธีที่เราคุ้นเคยที่สุด แต่อันที่จริงแล้วรูปแบบของการสื่อสารมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยแบบตัวต่อตัว การส่งข้อความ ไปจนถึงการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง โดยรูปแบบของการสื่อสารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
- การสื่อสารโดยใช้ภาษาพูด (Verbal Communication) เช่น การพูดคุยโดยตรง การเขียนรายงานผลการดำเนินงาน การจัดทำคู่มือการทำงาน เป็นต้น
- การสื่อสารโดยไม่ใช้การพูด (Nonverbal Communication) เช่น การสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่าง การทำภาพประกอบอธิบายวิธีการทำงาน เป็นต้น
ในการทำงานจริงนายจ้างจำเป็นต้องใช้การสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับแรงงานต่างด้าว และในการสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบนี้ หากเป็นไปได้นายจ้างควรมีการสื่อสารแบบสองทาง คือ มีการอธิบายงานและให้ลูกจ้างสามารถถามคำถามได้ เพื่อลดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน โดยในองค์กรขนาดใหญ่อาจมีการเลือกวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมตามระดับความรู้และความเข้าใจของแรงงาน เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการทำงาน
อุปสรรคของการสื่อสาร
แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของการสื่อสารระหว่างนายจ้างกับแรงงานต่างด้าว คือ ความแตกต่างทางด้านภาษา แม้แรงงานต่างด้าวหลาย ๆ คนจะสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานสัญชาติลาวที่ใช้ภาษาลาวซึ่งมีความใกล้เคียงกับภาษาไทยเป็นอย่างมาก แต่ก็อาจเกิดความสับสนจนทำให้ทำงานผิดพลาดเมื่อต้องทำงานที่มีความซับซ้อนและเป็นงานที่อาศัยประสบการณ์ ในขณะเดียวกันแรงงานบางคนก็ไม่กล้าถามนายจ้างเมื่อไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงาน เนื่องจากกลัวว่านายจ้างจะไม่พอใจและถูกตำหนิ นอกจากนี้วิธีการสื่อสารก็มีผลต่อความเข้าใจของแรงงานเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลายคนนั้นจะต้องมีการสื่อสารอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันและสามารถทำงานได้ตามที่วางแผนเอาไว้
เทคนิคการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว
การสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวอาจต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความเข้าใจมากกว่าการสื่อสารกับลูกจ้างทั่ว ๆ ไป เพราะกำแพงของภาษาและความแตกต่างของวัฒนธรรม จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิสขอแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- ใช้ล่ามแปลภาษา
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว การมีล่ามจะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้มาก หากเป็นงานที่มีความเฉพาะเจาะจงทางวิชาชีพควรใช้ล่ามที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยผู้ประกอบการอาจให้หัวหน้างานซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดีและมีประสบการณ์ในการทำงาน ทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับแรงงานต่างด้าวคนอื่น ๆ และช่วยตอบคำถามหากแรงงานต่างด้าวมีข้อสงสัยในการทำงาน
- จัดอบรมแรงงาน
ก่อนที่จะมีการเริ่มงานใด ๆ ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเสียก่อน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าใจสิ่งที่นายจ้างคาดหวัง ทั้งนี้การจ้างแรงงานต่างด้าว MOU อาจช่วยให้ขั้นตอนการจัดอบรมแรงงานเป็นเรื่องง่ายได้ เพราะแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะความสามารถ ประกอบกับการทราบประเภทของงานและสถานที่ทำงานมาล่วงหน้าแล้ว ทำให้มีความเข้าใจในเนื้องานและสามารถเตรียมตัวมาล่วงหน้าได้
- จัดทำคู่มือการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว
การจัดทำคู่มือการทำงานเป็นประโยชน์กับแรงงานต่างด้าวอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถพกพาได้และสามารถเปิดอ่านได้ตลอดเมื่อมีข้อสงสัย หากงานใหม่มีขั้นตอนการทำงานที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน ก็สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ในคู่มือมาปรับใช้ได้ โดยไม่ต้องอบรมให้ความรู้กันใหม่ โดยคู่มือการทำงานที่ดีควรเขียนรายละเอียดต่าง ๆ เป็นภาษาที่แรงงานต่างด้าวสามารถอ่านได้ไม่ว่าจะเป็นภาษาพม่า ภาษากัมพูชา รวมถึงภาษาลาว ที่สำคัญควรมีรูปภาพประกอบในคู่มือการทำงานเพื่อช่วยให้การสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพมากขี้น
- สาธิตการทำงานให้ดูเป็นตัวอย่าง
สำหรับงานเฉพาะทางหรืองานที่ต้องใช้ทักษะ เช่น งานก่อสร้าง อาจต้องให้หัวหน้างานสาธิตการทำงานให้ดูเป็นตัวอย่างที่หน้างานเพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาด และเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวได้สอบถามกับผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง กรณีที่นายจ้างมีลูกจ้างหลายคน ควรมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนได้ชมการสาธิตอย่างทั่วถึง นอกจากนี้อาจมีการอัดวิดีโอเก็บไว้ดูซ้ำและใช้เป็นสื่อการสอนให้กับแรงงานต่างด้าวที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ได้อีกด้วย - ไม่ใช้คำพูดกดขี่แรงงานต่างด้าว
การคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่เรากำลังสื่อสารด้วยเป็นสิ่งสำคัญ หากนายจ้างใช้คำพูดที่กดขี่หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้แรงงานต่างด้าวไม่รับฟังความต้องการของนายจ้าง รวมถึงรู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าถามคำถาม และไม่กล้ารายงานความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่นายจ้างควรทำคือการพูดโดยใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้นายจ้างอาจพูดให้กำลังใจเพื่อให้แรงงานต่างด้าวรู้สึกอยากทำงานและตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็ง
จะเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญและความใส่ใจในขั้นตอนการทำงานส่งผลให้การทำงานกับแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องง่าย และช่วยให้นายจ้างสามารถสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากนายจ้างมีปัญหาหรือข้อสงสัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าวสามารถปรึกษาบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส ได้ที่เบอร์ 02-218-8688 เรายินดีให้บริการลูกค้าทุกท่านด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง