
30 มิ.ย. สิทธิแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย (ตามกฎหมายแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย)
ไม่ว่าจะมาจากประเทศใดก็ตามสิทธิมนุษยชนคือสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียมกันมากที่สุด ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยเองก็จัดเป็นอีกกลุ่มคนสำคัญคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมสร้างผลงานชั้นยอดออกสู่สายตาโลก ด้วยเหตุนี้ทั้งนายจ้างและแรงงานจึงต้องทำความเข้าใจสิทธิ์ของแรงงานต่างด้าวเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามกฎหมายแรงงาน สิทธิด้านสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิต
สิทธิพื้นฐานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย
สิทธิพื้นฐานสำคัญเมื่อแรงงานต่างด้าวตัดสินใจเข้ามาทำงานในเมืองไทยคือเรื่องของสุขภาพอันเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้คือเรื่องของประกันสังคมและสิทธิประกันสุขภาพ มีข้อมูลน่าสนใจดังนี้
1. ประกันสังคม
หากเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีรายชื่อเป็นพนักงานองค์กรชัดเจนจะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบไม่ต่างจากแรงงานไทย จากนั้นก็จะเข้าสู่สถานะของการเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิด้านการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลที่ตนเองสังกัดหรืออยู่ในเครือข่ายแบบไม่ต้องเสียเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ ดังนี้
- เมื่อขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้วต้องจ่ายเงินสมทบจำนวน 5% ของเงินเดือน (ไม่เกิน 750 บาท) นายจ้างจ่าย 5% และรัฐบาลไทยจ่าย 2.75%
- แรงงานจะได้รับสิทธิประโยชน์รวม 7 รายการ ได้แก่ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน
- มีกองทุนเงินทดแทนโดยนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายในอัตรา 0.2-1% ของค่าจ้างตามประเภทความเสี่ยงกิจการ เงินส่วนนี้แรงงานได้รับต่อเมื่อประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ สูญหาย หรือเสียชีวิตขณะทำงาน
2. สิทธิประกันสุขภาพ
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีการนำเข้าตาม MOU และทำงานประเภทแม่บ้าน เกษตรกร เลี้ยงสัตว์ การประมง การค้าที่ไม่ใช่ธุรกิจของตนเอง กลุ่มนี้จะไม่มีการขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ใช้การเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข มีค่าจ่ายค่าตรวจสุขภาพปีละ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพปีละ 1,600 บาท จากนั้นรายชื่อของแรงงานจะถูกบันทึกเอาไว้ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบเดียวกับคนไทย
ส่งผลให้พวกเขาสามารถขอรับสิทธิ์ต่าง ๆ ตามโครงการประกันสุขภาพได้ทันที เช่น การเลือกสถานพยาบาลที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย ประสบอันตราย เป็นอีกสิทธิด้านสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานต่างด้าวอันเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ควรรู้
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยในกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกันแล้ว ลำดับต่อไปขออธิบายถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรศึกษาในรายละเอียดสำคัญบางเรื่อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามทิศทางอันเหมาะสม พึงพอใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้
- นายจ้างต้องปฏิบัติกับแรงงานเพศชายและหญิงอย่างเท่าเทียมยกเว้นสภาพหรือลักษณะงานที่ไม่สามารถปฏิบัติได้
- งานทุกประเภทสามารถทำได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง / วัน ส่วนงานที่มีอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย ทำได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง / วัน
- หากมีการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับความยินยอมจากฝั่งลูกจ้าง ยกเว้นกรณีหากหยุดทำงานต่อเนื่องแล้วงานมีความเสียหาย หรือเป็นงานเร่งด่วนฉุกเฉิน นายจ้างมีสิทธิแจ้งลูกจ้างให้ทำงานล่วงเวลาตามความเหมาะสม
- เวลาพักในระหว่างวันทำงานไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังมีการทำงานแล้วติดต่อกัน 5 ชั่วโมง กรณีเป็นลูกจ้างเด็กติดต่อกัน 4 ชั่วโมง
- การทำงานวันหยุดแรงงานต้องให้ความยินยอมยกเว้นกรณีหากหยุดทำงานต่อเนื่องแล้วงานมีความเสียหาย หรือเป็นงานเร่งด่วนฉุกเฉิน รวมถึงธุรกิจโรงแรม มหรสพ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ขนส่ง สถานพยาบาล สโมสร สมาคม นายจ้างมีสิทธิแจ้งลูกจ้างให้ทำงานล่วงเวลาตามความเหมาะสม
- ทุกสัปดาห์ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน วันหยุดตามประเพณีไม่ต่ำกว่า 13 วัน / ปี (รวมวันแรงงานแห่งชาติ)
- หากแรงงานต่างด้าวทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิ์ลาพักผ่อนอย่างน้อย 6 วัน / ปี
- ลาป่วยได้ตามวันป่วยจริง ไม่เกิน 30 วัน / ปี ยังคงได้รับค่าแรงตามปกติ
- ลากิจตามข้อกำหนดของแต่ละองค์กร
- ลูกจ้างผู้หญิงสามารถลาคลอดบุตรไม่เกิน 90 วัน นับรวมวันหยุดพิเศษระหว่างลา และได้ค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน
- ค่าแรงต้องไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่แต่ละจังหวัดกำหนด จ่ายอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ค่าล่วงเวลาทำงานต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า ของค่าจ้างทำงานปกติ / ชั่วโมง
นี่เป็นสิทธิเบื้องต้นเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในเมืองไทยอันเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน และความเหมาะสมด้านสุขภาพกับความปลอดภัยของชีวิต ทั้งนี้ตัวนายจ้างและแรงงานเองต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความจริงใจ มุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนเองเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่องค์กรคาดหวังเอาไว้ เหนือสิ่งอื่นใดตัวแรงงานต้องไม่ปฏิบัติสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือสถานที่ด้วย
มองหาแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ แนะนำ Jobsworker
สำหรับนายจ้างคนไหนกำลังมองหาแรงงานต่างด้าว แต่ไม่มีเวลาดำเนินการด้วยตนเองให้บริการจัดหาแรงงานต่างด้าวแบบครบวงจร Jobsworker เป็นผู้ช่วยของคุณดีกว่า บริการแบบเบ็ดเสร็จทุกเรื่องตั้งแต่การคัดบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน มีคุณสมบัติพื้นฐานการทำงานที่ดี ตรวจสอบประวัติส่วนตัว ดูแลด้านเอกสาร ให้คำแนะนำตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยินดีให้คำปรึกษาทั้งนายจ้างและแรงงาน พร้อมช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อได้อย่างดี One Stop Service แห่งเดียวเบ็ดเสร็จยืนยันจากกลุ่มลูกค้าชั้นนำของเมืองไทยที่ไว้วางใจเลือกใช้บริการกับเรา