ภาวะสุขภาพและโรคติดต่อของคนต่างด้าวที่นายจ้างควรรู้

ในภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้ เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องดูแลแรงงานต่างด้าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานทุกคนควรจะได้รับ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่าปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาสุขภาพด้านใดบ้าง จากการศึกษาภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทย พบว่าภาวะสุขภาพและโรคติดต่อที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือวัณโรค รองลงมาคือโรคเอดส์ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซิฟิลิสและโรคหนองใน นอกจากนี้ยังมีโรคท้องร่วง โรคไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคมาลาเรีย ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าวเช่นกัน สำหรับภาวะสุขภาพและโรคไม่ติดต่ออาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านสุขภาพส่วนตัวของแรงงาน เช่น การตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน ความผิดปกติในทารกแรกเกิด ความดันโลหิตสูง สารเสพติดให้โทษและพิษสุราเรื้อรัง  เนื้อร้ายที่เต้านมและเนื้อร้ายที่ปากมดลูก/มดลูก หรืออาจมาจากการทำงาน เช่น การได้รับอุบัติเหตุขณะทำงาน ภาวะซึมเศร้า เครียด หรือโรคจิตเวชอื่น ๆไม่เพียงแต่ตัวแรงงานเองที่เผชิญอยู่กับปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ จากรายงานพบว่าเด็กต่างด้าวจำนวนมากมีน้ำหนักน้อยและรูปร่างเล็กกว่าเด็กไทยที่ มีอายุเท่ากัน เนื่องจากเด็กต่างด้าวเหล่านี้ไม่มีเอกสารประจำตัว ทำให้ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค หรือได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ นอกจากนี้ยังมีเด็กส่วนหนึ่งประสบภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งเกิดจากการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงภาระการรักษาพยาบาลของพ่อแม่เด็กอีกด้วย

การบริการด้านสุขภาพที่แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงได้ แรงงานต่างด้าวที่มีสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และผู้ติดตามแรงงานทั้ง 3 สัญชาติที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพและได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับแรงงานไทย ดังนี้

1. ประกันสังคม

สำหรับลูกจ้างของกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะมีสิทธิเข้าถึงประกันสังคมได้ ประกันสังคมคือกองทุนที่ช่วยให้สมาชิกมีหลักประกันความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพและปัญหาการว่างงาน โดยประกันสังคมแรงงานต่างด้าวจะให้ความคุ้มครอง 7 กรณี เหมือนกับผู้ประกันตนคนไทย ได้แก่

  • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
  • กรณีคลอดบุตร
  • กรณีทุพพลภาพ
  • กรณีเสียชีวิต
  • กรณีสงเคราะห์บุตร
  • กรณีชราภาพ
  • กรณีว่างงาน

ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นแรงงานต่างด้าว MOU ซึ่งต้องทำประกันสังคมอยู่แล้ว จากข้อมูลในเดือนเมษายน 2562 พบว่าแรงงานต่างด้าวมารับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรสูง รองลงมาคือกรณีเจ็บป่วยและคลอดบุตรโดยสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินทดแทนไปแล้วกว่า 30 ล้านบาท และพร้อมให้บริการแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียม

2. บัตรประกันสุขภาพ

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานประเภทงานรับใช้ในบ้าน เกษตร ปศุสัตว์ ประมง ค้าขายที่ไม่ใช่ธุรกิจหรือเป็นแรงงานที่ไม่มีประกันสังคม จะต้องทำประกันสุขภาพตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยและตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนผู้ที่มีประกันสังคมอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพ

เว้นแต่ว่าเป็นผู้เข้าประกันสังคมใหม่ จะต้องซื้อประกันสุขภาพแบบ 3 เดือน โดยแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้ติดตามแรงงาน (บุตรของแรงงานต่างด้าว) ที่ทำประกันสุขภาพจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

  • การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพทั่วไป
  • การส่งเสริมสุขภาพ
  • การเฝ้าระวังโรค
  • การป้องกันและการควบคุมโรค

อัตราค่าใช้จ่ายในการทำประกันสุขภาพต่อคนมี 2 แบบ คือ

1. ค่าประกันสุขภาพของกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มผู้ติดตามแรงงานอายุเกิน 7 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี

  • อายุความคุ้มครอง 3 เดือน ราคา 500 บาท
  • อายุความคุ้มครอง 6 เดือน ราคา 900 บาท
  • อายุความคุ้มครอง 1 ปี ราคา 1,600 บาท
  • อายุความคุ้มครอง 2 ปี ราคา 3,200 บาท

2. ค่าประกันสุขภาพของกลุ่มผู้ติดตามแรงงานอายุไม่เกิน 7 ปี

  • อายุความคุ้มครอง 1 ปี ราคา 365 บาท
  • อายุความคุ้มครอง 2 ปี ราคา 730 บาท

นายจ้างสามารถช่วยเหลืองแรงงานได้อย่างไรบ้าง แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยอาจไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ นายจ้างจึงควรให้คำแนะนำและพาแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับแรงงาน MOUที่มีสิทธิสามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ จะต้องขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครอง ดังนี้

1. กองทุนประกันสังคม

เป็นกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์หลายกรณีตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยนายจ้างและลูกจ้างจะต้องจ่างเงินสมทบ 5% ของเดือนแต่ไม่เกิน 750 บาท ส่วนรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 2.75%

2. กองทุนเงินทดแทน

เป็นกองทุนที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมฝ่ายเดียวในอัตรา 0.2 – 1% ของค่าจ้างตามความเสี่ยงของประเภทกิจการ โดยเงินในส่วนนี้จะเป็นเงินทดแทนในกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการทำงานให้กับนายจ้างเท่านั้น ส่วนเรื่องการตรวจสุขภาพและการทำประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างอาจเกิดข้อสงสัยว่าจะซื้อบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวที่ไหนได้บ้าง

อันที่จริงแล้วนายจ้างสามารถพาแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพและทำบัตรประกันสุขภาพได้ตามโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด สำหรับในเขตกรุงเทพฯ สามารถซื้อได้ที่ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ราชธานี หรือที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นอกจากการช่วยให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว นายจ้างยังสามารถช่วยให้แรงงานมีสุขอนามัยที่ดีได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ อย่างการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะอาดและปลอดภัย เช่น การดูแลที่ทำงานให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอยู่เสมอว่ายังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่ มีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยให้กับแรงงานหากต้องทำงานที่มีความเสี่ยง เป็นต้น

สุขภาพของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องที่นายจ้างไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อแรงงานมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายจ้างเองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แรงงานมีสุขภาพดีและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่แรงงานควรได้รับ หากนายจ้างมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจในขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ สามารถปรึกษาบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส ได้ที่เบอร์ 02-218-8688