
24 เม.ย. ดูแลคนต่างด้าว ให้อยู่กับนายจ้างยาวๆ ด้วยการดูแลสุขภาพจิตให้ดี
ไม่ว่าชนชาติใดย่อมมีสิทธิ์ได้รับการดูแลตามขั้นตอนพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ซึ่งแรงงานต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยทุกอาชีพ ทุกตำแหน่ง ถือเป็นอีกบุคลากรสำคัญสำหรับพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่ง เติบโตไปตามทิศทางและเป้าหมายที่องค์กรวางแผนเอาไว้ และยังมีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยด้วย จึงไม่ใช่แค่การตอบแทนด้านเงินทอง หรือการดูแลสุขภาพกายเพียงอย่างเดียว แต่การสนับสนุน “สุขภาพจิต” ของพวกเขาก็เป็นอีกเรื่องที่นายจ้างควรทำ คำถามที่นายจ้างอาจสงสัยคือแล้วต้องทำอะไรบ้าง มาดูกันเลย
คำแนะนำสำหรับนายจ้างเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตแรงงานต่างชาติ
1. มีการสอบถามพูดคุยกับแรงงานอยู่ตลอด
คำแนะนำแรกสำหรับนายจ้างทุกคนเพื่อสนับสนุนและเข้าใจถึงความรู้สึก ความคิด และประเมินสุขภาพจิตของแรงงานต่างชาติได้อย่างตรงจุดมากที่สุด ควรมีการสอบถามพูดคุยกับพวกเขาอยู่ตลอด เช่น ทุกสัปดาห์มีการเรียกประชุมสอบถามการทำงาน ปัญหาที่พบเจอ หรือรับฟังข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจพูดคุยแบบกลุ่ม แบบรายบุคคลก็ตามความเหมาะสม
ที่สำคัญพยายามบอกกับพวกเขาเสมอถึงความจริงใจที่นายจ้างมีให้ เช่น หากมีปัญหาระหว่างการทำงานสามารถเข้ามาพูดคุยได้ตลอด เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมายขององค์กร เมื่อแรงงานต่างชาติรู้สึกว่าพวกเขาไม่กดดัน นายจ้างรับฟังและเข้าใจย่อมส่งผลดีต่อจิตใจและยินดีทำงานให้อย่างเต็มศักยภาพ
2. หากสังเกตถึงความเครียด ความกดดันที่เกิดขึ้น ควรสนับสนุนเรื่องจิตแพทย์
แม้จะบอกว่าทุกการทำงานเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีความตึงเครียด ความกดดันต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในฐานะนายจ้างก็ต้องคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นต่อตัวแรงงานต่างชาติด้วยว่าบางพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ เช่น ผลลัพธ์ของงานที่ออกมาไม่ได้มาตรฐานแม้มีการพูดคุยตักเตือนบ่อยครั้งแล้วก็ตาม พนักงานขาดงานบ่อย มาสาย หรือหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ค่อยพูดจา เก็บตัวเงียบซึม ไม่ทานข้าวกับคนอื่น ฯลฯ
ในกรณีนี้อาจให้หัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานพูดคุยเบื้องต้นก่อน จากนั้นเมื่อประเมินว่าน่าจะมีปัญหาด้านสภาพจิตใจไม่ว่าเรื่องใดก็ตามนายจ้างควรสนับสนุนให้พวกเขาได้มีโอกาสพบกับจิตแพทย์ อาจเป็นการจ้างจิตแพทย์เข้ามาพูดคุยกับพนักงานทุกคนที่รู้สึกถึงความผิดปกติทางจิตใจ หรือมีสวัสดิการพิเศษให้แรงงานเหล่านี้สามารถไปพบกับจิตแพทย์ได้และนำเงินมาเบิกกับทางบริษัท เป็นต้น เมื่อได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงย่อมทำให้ปัญหาภายในจิตใจที่กำลังเกิดขึ้นทุเลาลงได้
3. ดูแลเรื่องสุขภาพกายของพนักงานด้วย
การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของแรงงานต่างชาติต้องมีเรื่องของสุขภาพกายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะอย่าลืมว่าตามธรรมชาติของคนเราหากสุขภาพกายดี สุขภาพจิตย่อมดีตาม แต่ถ้ามีปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วย จิตใจก็แย่ลง นอกจากการมีให้ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อาจมีสวัสดิการเสริมอื่นเพิ่มเติมให้กับแรงงานทุกคนไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติ
เช่น การตรวจมะเร็งชาย-หญิง สุขภาพช่องปาก การทำประกันสุขภาพ-ประกันอุบัติเหตุกลุ่มเพื่อลดภาระในกรณีต้องรักษาตัวจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ มีเงินชดเชยในกรณีเจ็บป่วยและต้องรักษาตัวนานกว่าวันลาตามปกติ เป็นต้น เมื่อพนักงานทุกคนสบายใจที่เห็นว่าอย่างน้อยนายจ้างก็ไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขายามเจ็บไข้ได้ด้วย เมื่อหายกลับมาทำงานได้ตามปกติย่อมช่วยกระตุ้นความรู้สึกรักองค์กรและตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด
4. ประเมินสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากการพูดคุยหรือการสังเกตแล้ว อีกวิธีที่จะทำให้รู้ว่าเวลานี้สุขภาพจิตของแรงงานต่างชาติเป็นอย่างไรคือการให้พวกเขาได้ประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก 3 เดือน จะมีแบบสอบถามให้พนักงานได้ลองทำ ซึ่งเนื้อหาก็เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพจิตทั่วไป อาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องคำถามและประเมินคะแนนที่เกิดขึ้นว่าแรงงานคนใดอยู่ในเกณฑ์ที่ควรได้รับการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพจิต สิ่งนี้จะช่วยให้นายจ้างเองแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด รู้ว่าพนักงานคนไหนที่ควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด อาจมีการเรียกมาพูดคุยส่วนตัวถึงปัญหาที่ติดอยู่ในใจและช่วยกันแก้ไขคนละทาง
5. ดูแลสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้ถูกสุขลักษณะและเหมาะกับการใช้ชีวิต
อีกสิ่งที่จะช่วยให้แรงงานทั้งไทยและต่างชาติไม่ต้องเครียดกับการทำงานนั่นคือ บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายในองค์ของตนเองให้ถูกต้องตามสุขลักษณะมากที่สุด ทั้งเรื่องความสะอาด กลิ่น การทิ้งของเสีย รวมถึงความปลอดภัยในการทำงานเพื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าพวกเขายินดีทำงานด้วยความเต็มใจ ไม่ต้องพะวงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คงไม่มีใครรู้สึกดีหากต้องดมกลิ่นสี กลิ่นสิ่งปฏิกูลของเสียทุกวัน หรือต้องเจอกับห้องน้ำสกปรก เป็นต้น หากอธิบายให้เห็นภาพง่ายขึ้นก็คงทำนองนายจ้างชอบแบบไหนลูกจ้างก็ควรได้รับสิ่งเหล่านั้นในระดับที่เหมาะสม
6. การให้ค่าแรงและสวัสดิการที่เป็นธรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทองคือสิ่งที่ใช้ในการดำเนินชีวิต การสนับสนุนสุขภาพจิตให้กับแรงงานต่างชาติอีกวิธีที่ชัดเจนมากย่อมหนีไม่พ้นนายจ้างมีการจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม ทั้งค่าแรงรายวัน รายเดือน ต้องไม่น้อยกว่าขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด การจ่ายโอทีหากพนักงานทำงานล่วงเวลา เบี้ยขยันกรณีที่พนักงานต่างชาติทำงานได้ตามเป้า ไม่หยุด ไม่ลา มาทันเวลาเข้างานสม่ำเสมอ
รวมไปถึงสิทธิ์สวัสดิการพื้นฐานอื่น ๆ เช่น วันหยุดตามประเพณีเพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนโดยไม่มีการหักเงิน หรือแม้แต่การให้สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับการรักษาพยาบาลเมื่อพนักงานเจ็บป่วย หากองค์กรสามารถทำได้ตามพื้นฐานการจ้างงานที่เหมาะสมไม่ต่างกับคนไทยทั่วไป จะเป็นอีกกำลังใจเล็ก ๆ ให้แรงงานต่างชาติพร้อมขยันทำงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
7. ดูแลสภาพจิตใจจากการต้องห่างบ้าน การทำงานต่างถิ่น
อาการคิดถึงบ้าน หรือ Home Sick เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อต้องมาทำงานต่างถิ่น ต่างประเทศ หรือไกลจากบ้านเกิดของตนเอง ส่งผลต่อสภาพจิตใจในการใช้ชีวิตไปจนถึงการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพอันเหมาะสม บ่อยครั้งแรงงานต่างชาติที่สภาพจิตใจไม่ดีจากปัญหาคิดถึงบ้านมักเกิดความเครียด กดดัน สับสนอยู่ในใจ คิดถึงลูก-ครอบครัว แต่อีกใจก็ต้องทำงานหาเลี้ยงพวกเขา ส่งผลเสียมากกว่าที่คิดต่อทั้งตัวแรงงาน เพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญผลลัพธ์ขององค์กรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
นี่จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่นายจ้างต้องเข้ามาให้การดูแลและสนับสนุนสุขภาพจิตของแรงงานต่างชาติให้มาก วิธีเบื้องต้นคือ ในกรณีวันหยุดยาวอาจมีการเพิ่มเงื่อนไขสำหรับคนที่กลับไปเยี่ยมบ้านให้สามารถกลับมาช้าได้อย่างน้อย 1-2 วัน โดยไม่มีการหักเงิน หรือการเข้าไปพูดคุยหากสังเกตเห็นพนักงานมีอาการผิดปกติทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า ไม่ค่อยร่าเริง หรืองานออกมาไม่ตรงกับมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้ จะช่วยให้พวกเขามีกำลังใจและเดินหน้าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นี่คือคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับนายจ้างทุกคนที่ต้องการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตให้กับแรงงานต่างชาติของตนเอง ต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้พวกเขาอาจมีความเปราะบางทางด้านจิตใจมากกว่าคนไทย เหตุเพราะต้องห่างจากบ้านตัวเอง การใช้ชีวิต ภาษา วัฒนธรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมด จึงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจได้ง่ายกว่าแรงงานคนไทยทั่วไป หากนายจ้างเอาใจใส่ ดูแล ทั้งร่างกายและจิตใจ ก็เชื่อว่าพวกเขาพร้อมตอบแทนด้วยการทำงานให้ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด เต็มทักษะและความสามารถของตนเองแน่ ๆ
Jobs Worker เป็นกำลังใจให้นายจ้างและแรงงานต่างชาติทุกคนนะคะ และถ้ามีใครต้องการ บริการจัดหาแรงงานต่างด้าวแบบครบวงจร ติดต่อ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส ได้เลยวันนี้