news1-new1

กรมการจัดหางาน ! แจงเงื่อนไขการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนประเภทหรือลักษณะงาน ท้อง

นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาจ้างหากประสงค์จะทำงานกับนายจ้างรายใหม่สามารถเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนประเภทงานหรือลักษณะงาน ท้องที่หรือสถานที่ทำงานได้ โดยมีเงื่อนไขใน 5 กรณีคือ
1) นายจ้างเลิกจ้าง/นายจ้างเสียชีวิต
2) นายจ้างล้มละลาย
3) นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายลูกจ้าง
4) นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
5) ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย
ทั้งนี้ ยกเว้นแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่อยู่ในช่วงเวลาของการจดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2559 ยังไม่อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้างได้ หากพ้นกำหนดสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ
กรณีนายจ้างเลิกจ้างคือนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันมิใช่เพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง รวมถึงเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป สำหรับการเลิกจ้างเพราะลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญา จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม กรณีดังกล่าวนี้ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ได้ โดยจะต้องถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงาน และถูกส่งกลับต่อไป ส่วนกรณีนายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายลูกจ้างนั้นต้องมีการแสดงหลักฐานการแจ้งความ ขณะที่กรณีลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยนั้น ลูกจ้างจะเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนประเภทงานหรือลักษณะงาน ท้องที่หรือสถานที่ทำงานได้ตามที่นายทะเบียนการทำงานของคนต่างด้าวพิจารณา
ขั้นตอนการดำเนินการเปลี่ยนนายจ้างคือ แรงงานต่างด้าวหรือผู้ที่ประสงค์จะจ้างแรงงานดังกล่าวต้องนำหลักฐานการเลิกจ้าง เลิกกิจการ หรือร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายจ้างรายเดิมมาแสดง โดยมีค่าธรรมเนียมจำนวน 1,000 บาท เป็นค่า ยื่นคำขอ 100 บาท และการอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง เพิ่มลักษณะงาน ครั้งละ 900 บาท
นายสิงหเดชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้สูงสุดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เช่น รับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับตนเอง จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ขณะเดียวกัน แรงงาน ต่างด้าวที่ไม่ทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานและกับนายจ้าง ณ ท้องที่หรือสถานที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด
ที่อยู่ 49,51 ถ.สุขสวัสดิ์ แขวงราษฎร์บูรณะ
เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ 10140

Tel.02-018-8688
ID Line : @jobsworker
Facebook : www.facebook.com/JWSThailand
Website : www.jws.in.th